เรื่องที่ 1 แนะนำการใช้งานโปรแกรม Microsoft Access 2013

เรื่องที่ 2 การสร้างฐานข้อมูล

เรื่องที่ 3 การสร้างตาราง

เรื่องที่ 4 การทำงานกับตาราง

เรื่องที่ 5 ความสัมพันธ์ของตาราง

เรื่องที่ 6 การค้นหาและสอบถาม

เรื่องที่ 7 การสร้างฟอร์มข้อมูล

เรื่องที่ 8 การสร้างรายงานข้อมูล


เรื่องที่ 5 ความสัมพันธ์ของตาราง


ในการเก็บข้อมูลในตารางนั้น เราจะเก็บข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน เช่น ตารางนักเรียน ก็จะเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับนักเรียน เช่น ชื่อ สกุล เลขที่ ระดับชั้น อายุ วันเกิด เป็นต้น และเมื่อนักเรียนมีการลงทะเบียนวิชาเรียน เราก็จะเก็บรายละเอียดเพื่อสร้างตารางลงเบียนขึ้นมา เช่น นักเรียนลงทะเบียนวิชาใดบ้าง นักเรียนลงทะเบียนวันที่เท่าไหร่ เป็นต้น เมื่อมีรายละเอียดการลงทะเบียน จะต้องมีตารางรายวิชาเพื่อให้ทราบรายละเอียดรายวิชา เช่น ชื่อวิชา หน่วยกิต ครูผู้สอน เป็นต้น ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นในโปรแกรม Access 2013 นั้น มีวิธีสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตาราง ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน ดึงข้อมูลมาใช้ร่วมกัน และก่อนที่จะสร้างความสัมพันธ์นั้นจะต้องเรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์ของตารางก่อน ดังนี้


ลักษณะของความสัมพันธ์

1. ความสัมพันธ์แบบ One-to-One (1:1)

คือ ความสัมพันธ์ของ 1 เร็คคอร์ดของตารางหนึ่ง มีความสัมพันธ์กับอีก 1 เร็คคอร์ดของอีกตารางหนึ่ง แต่ละตารางจะมีความสัมพันธ์กันไม่เกิน 1 รายการเท่านั้น เช่น ตารางนักเรียน มีความสัมพันธ์แบบ One-to-One (1:1) กับตารางหัวหน้าห้อง โดย นักเรียน 1 คน สามารถเป็นหัวหน้าห้องได้ 1 ห้อง เท่านั้น และ หัวหน้าห้อง 1 ห้อง สามารถ เป็นได้โดยนักเรียนเพียง 1 คนเท่านั้น เป็นต้น


2. ความสัมพันธ์แบบ One-to-Many (1:N)

คือความสัมพันธ์ของ 1 เร็คคอร์ดของตารางหนึ่ง มีความสัมพันธ์กับอีก 2 เร็คคอร์ดขึ้นไปของอีกตารางหนึ่ง เช่น ตารางนักเรียนมีความสัมพันธ์แบบ One-to-Many (1:N) กับตารางหนังสือ โดยที่นักเรียน 1 คนสามารถยืมหนังสือรหัสนี้ได้เพียงเล่มเดียว แต่รหัสหนังสือนี้สามารถยืมได้โดยนักเรียนหลายคน


3. ความสัมพันธ์แบบ Many-to-Many (M:N)

คือความสัมพันธ์ของ 1 เร็คคอร์ดของตารางที่ 1 มีความสัมพันธ์กับอีก 2 เร็คคอร์ดขึ้นไปของตารางที่ 2 และ 1 เร็คคอร์ดของตารางที่ 2 ก็มีความสัมพันธ์กับ 2 เร็คคอร์ดขึ้นไปของตารางที่ 1 เช่นกัน แต่จะนำทั้งสองตารางมากำหนดความสัมพันธ์กันโดยตรงไม่ได้ เพราะคีย์หลักที่ใช้เชื่อมความสัมพันธ์ไม่สามารถมีข้อมูลซ้ำกันได้ เลยจะต้องมีตารางที่ 3 มาเชื่อมความสัมพันธ์ เช่น นักเรียน 1 คน สามารถลงเบียนเรียนได้หลายรายวิชา และ 1 รายวิชาสามารถลงทะเบียนด้วยนักเรียนหลายคน เช่นกัน เป็นต้น